วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

พานบายศรีสู่วิถีชีวิตชุมชน


คำบรรยายประกอบวีดีทัศน์นำเสนอกิจกรรม พานบายศรีสู่วิถีชีวิตชุมชน

ศรี ศรี มื้อนี้แม่นมื้อดี มื้อเศรษฐีอะมุตตะโชค โตกใบนี้แหม่นโตกไม้จันทน์
ขันอันนี้ แหม่นขันวิเศษ ผู้เหนือเกษป่อนลงมา เทวดาเอามาสู่ เอามาอยู่ในเคหา สองสามีภรรยาจักได้เกิด พระอินทรเปิดส่องพระแจ พระพรหมแลเผยพระโอษฐ์ ว่ามื้อนี้หายโทษทั้งมวล บรบวรทุกอย่าง ผู้เป็นช่างแต่งพาขวัญ มีทั้งมวนหมากเหมี่ยง พาขวัญเที่ยงใบศรี งามแสนดีเจ็ดชั้น แถนพ่อปั้น แต่งมานำ มีเงินคำพันไถ่ เอามาใส่พาขวัญ บรบวรถ่วนถี่ งามเอาหนี่จั่งเมืองแมน…”
            การสู่ขวัญเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งซึ่งปราชญ์โบราณอีสานได้คิดขึ้น  นับได้ว่าเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่คน  เสริมศิริมงคลแก่บ้านเรือน  ตลอดจนเป็นการรวมศิริแห่งโภคทรัพย์  ดังคำที่ท่านพระศิริมังคลมหาเถระกล่าวไว้ว่า  สิริโภคานมาสโย  แปลว่า ศิริเป็นที่มารวมแห่งโภคสมบัติ  สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการสู่ขวัญ  ก็คือ  พาขวัญหรือพานบายศรี  ซึ่งเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักและคุ้นเคย เพราะพบเห็นบ่อยในพิธีกรรมต่างๆในแทบทุกภาคของไทย ซึ่งต้องใช้พานบายศรีเป็นเครื่องประกอบทั้งสิ้น  
ประวัติความเป็นมาของบายศรีนั้น ไม่มีหลักฐานแน่นอน แต่มีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว เนื่องจากมีการกล่าวถึงบายศรีในวรรณกรรมมหาชาติคำหลวง กัณฑ์มหาราช ซึ่งแต่งในสมัยอยุธยาว่า แล้ว ธ ก็ให้เบอกบายศรีบอกมิ่ง อีกทั้งศิลปวัตถุตู้ลายรดน้ำสมัยอยุธยา ก็ปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับบายศรี อย่างไรก็ดี เชื่อว่าบายศรีนี้น่าจะได้คติมาจากพราหมณ์แน่นอน เพราะบายศรีต้องใช้ใบตองเป็นหลัก ซึ่งตามคติของพราหมณ์เชื่อว่าใบตองเป็นของบริสุทธิ์สะอาด ไม่มีมลทินของอาหารเก่าแปดเปื้อนเหมือนถ้วยชาม จึงนำมาทำภาชนะใส่อาหารเป็นรูปกระทง ต่อมาจึงได้มีการประดับประดาตกแต่งให้สวยงามขึ้น โดยทั่วไป บายศรีจะแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ  บายศรีของราษฎร และ บายศรีของหลวง
บายศรีของราษฎร ได้แก่ บายศรีที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมต่างๆ  ของราษฎร ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไป แต่แบ่งได้เป็น ๒ ชนิดคือ บายศรีปากชาม และ บายศรีใหญ่หรือบายศรีต้น บายศรีปากชาม จะเป็นบายศรีขนาดเล็ก นำใบตองมาม้วนเป็นรูปกรวย ใส่ข้าวสุกข้างใน ตั้งกรวยคว่ำไว้กลางชามขนาดใหญ่ ให้ยอดแหลมของกรวยอยู่ข้างบน และบนยอดให้ใช้ไม้เสียบไข่ต้มสุกปอกเปลือกที่เรียกว่า ไข่ขวัญ ปักไว้โดยมีดอกไม้เสียบต่อขึ้นไปอีกที การจัดทำบายศรีเพื่อประกอบพิธีกรรมตอนเช้า มักจะมีเครื่องประกอบบายศรีเป็นอาหารง่ายๆ เช่น ข้าว ไข่ กล้วย และแตงกวา แต่ถ้าหลังเที่ยงไปแล้ว ไม่นิยมใส่ข้าว ไข่ แต่จะใช้ดอกบัวเสียบบนยอดกรวยแทน และใช้ดอกไม้ตกแต่งแทนกล้วย และแตงกวา ส่วน บายศรีใหญ่ หรือ บายศรีต้น จะเป็นบายศรีที่มีขนาดใหญ่กว่าบายศรีปากชาม นิยมทำเป็น ๓ ชั้น ๕ ชั้น และ ๗ ชั้น หรือบางทีก็ทำถึง ๙ ชั้น ด้วยเหตุว่านำคติเรื่องฉัตรมาเกี่ยวข้อง ซึ่งแท้จริงแล้ว การทำบายศรีใหญ่หรือบายศรีต้นนี้ไม่มีการกำหนดชั้นตายตัว สุดแต่ผู้ทำจะเห็นว่าสวยงาม ถ้าทำชั้นมากก็ถือว่าเป็นเกียรติมาก และในแต่ละชั้นของบายศรีมักใส่อาหาร ขนม ดอกไม้ ธูปเทียนลงไปด้วย ปัจจุบันทั้งบายศรีปากชามและบายศรีใหญ่อาจจะใช้วัสดุอื่นๆแทนใบตองซึ่งหาได้ยากขึ้น เช่น ใช้ผ้า กระดาษ หรือวัสดุเทียมอื่นๆที่คล้ายใบตองมาตกแต่ง แต่รูปแบบโดยทั่วไปก็ยังคงลักษณะบายศรีอยู่
บายศรีของหลวง ได้แก่ บายศรีที่ใช้ในพระราชพิธีต่างๆอันเกี่ยวเนี่องกับพระมหากษัตริย์ พระมเหสี พระราชโอรส พระราชธิดา และพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งในโบราณราชประเพณี และพระราชพิธีที่ทรงมีพระประสงค์ให้จัดขึ้นในโอกาสพิเศษต่างๆ รวมไปถึงรัฐพิธีที่เชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯด้วย ทั้งนี้ บายศรีของหลวงในปัจจุบันแบ่งออกเป็น ๓ แบบคือ บายศรีต้น   บายศรีแก้ว ทอง เงิน และ บายศรีตองรองทองขาว
โอกาสในการใช้บายศรี ส่วนใหญ่จะใช้ในการทำขวัญต่างๆที่เป็นประเพณีเกี่ยวกับชีวิต เช่น การทำขวัญเดือน ทำขวัญนาค ทำขวัญแต่งงาน (นิยมในภาคเหนือและอีสาน) ทำขวัญนา ทำขวัญแม่โพสพ หรือแม้แต่การทำขวัญสัตว์ อย่างวัวควาย เป็นต้น รวมไปถึงพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการทำมาหากิน การบวงสรวงสังเวย และการสมโภชต่างๆ เช่น การตั้งศาลพระภูมิ การวางศิลาฤกษ์ การไหว้เทวดาอารักษ์ การบูชาครูช่าง ฯลฯ ส่วนการใช้บายศรีชนิดใดในโอกาสไหนนั้น มีข้อสังเกตง่ายๆว่า บายศรีปากชาม มักใช้ในพิธีทำขวัญในครัวเรือนอย่างง่ายๆ ที่มิใช่งานใหญ่โต เช่น การทำขวัญเดือนเด็ก หรือในพิธีตั้งศาลหรือถอนศาลพระภูมิ เป็นต้น ส่วน บายศรีต้นหรือบายศรีใหญ่ มักใช้เป็นเครื่องบูชาเทพยดาตามลัทธิพราหมณ์ ที่มิใช่บูชาพระ หรือมักใช้ในงานใหญ่ที่ครึกครื้น
            จากความสำคัญของพานบายศรีที่มีต่อวิถีชีวิตของคนไทยดังกล่าว  โรงเรียนบ้านหัวหมู  อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามหาสารคาม  เขต  2  จึงจัดให้มีโครงการ  พานบายศรีสู่วิถีชีวิตชุมชน  เพื่อสร้างความตระหนักแก่เยาวชนและชุมชนในการอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงาม  โดยดำเนินการดังนี้
            1.  จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การทำพานบายศรี  โดยได้รับการสนับสนุน
จากองค์การบริหารส่วนตำบลก้ามปู  อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย  จังหวัดมหาสารคาม  ประสานความร่วมมือทางด้านวิชาการและการออกแบบผลิตภัณฑ์จากมหาวิทยาลัยมหาสารคามและวิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม  ให้การอบรมแก่คณะครู  นักเรียนโรงเรียนบ้านหัวหมู  และชุมชนในเขตบริการ
2.  จัดกิจกรรมการเรียนรู้  เรื่อง  พานบายศรี  โดยบูรณาการเข้ากับ  8  กลุ่มสาระการเรียนรู้  สำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่  2  โรงเรียนบ้านหัวหมู
3.  ส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ความรู้และทักษะการทำพานบายศรีสู่ชุมชนอย่างหลากหลาย และต่อเนื่อง
4.  สนับสนุนให้นักเรียนผลิตพานบายศรีเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาและประเพณีในท้องถิ่น
5.  ส่งเสริมให้นักเรียนและเยาวชน  ตลอดจนผู้ปกครองนักเรียนเข้าร่วมประกวดการจัดทำพานบายศรีทั้งในระดับท้องถิ่น  ระดับเขตพื้นที่การศึกษาและระดับจังหวัด
ผลการดำเนินงานตามโครงการพานบายศรีสู่วิถีชีวิตชุมชน  ปรากฏว่า  คณะครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านหัวหมู  ตลอดจนบุคลากรในชุมชนมีความรู้และทักษะในการทำพานบายศรี  ตระหนักถึงคุณค่าและคุณประโยชน์จากพานบายศรีในโอกาสต่างๆ  ดังจะเห็นได้จากการแข่งขันการประดิษฐ์พานบายศรีทั้งในระดับอำเภอ  และระดับเขตพื้นที่การศึกษา  สมกับคำขวัญของโรงเรียนที่ว่า
            วิชาการเป็นเลิศ         ประเสริฐคุณธรรม  นำประชาธิปไตย   ใส่ใจชุมชน    ฝึกฝนอาชีพส่องประทีปภูมิปัญญาชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น