วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

ตัวอย่างข้อเสนอแนวความคิดการพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ


ข้อเสนอแนวความคิด/วิธีการเพื่อพัฒนางานหรือปรับปรุงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ของ  นายชยานนต์  มนตรี
เพื่อประกอบการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา (กศน.อำเภอ/เขต)
สังกัดสำนักงาน  กศน.สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
เรื่อง   ส่งเสริมการอ่านออกเขียนได้  ใส่ใจทักษะชีวิต  เน้นเศรษฐกิจพอเพียง  ร้อยเรียงหัวใจสมานฉันท์
หลักการและเหตุผล  การพัฒนางานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย  อาจกล่าวได้ว่าเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรส่วนใหญ่ในประเทศ  ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนาทั้งระบบพร้อมกันทั้งด้านความสามารถทางสติปัญญา  ทักษะที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต  การเลี้ยงชีพ  และการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข  ข้าพเจ้าจึงเสนอแนวคิด ส่งเสริมการอ่านออกเขียนได้  ใส่ใจทักษะชีวิต  เน้นเศรษฐกิจพอเพียง  ร้อยเรียงหัวใจสมานฉันท์  ขึ้น  โดยมีความคาดหวังว่าจะเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถพัฒนาบุคลากรส่วนใหญ่ของประเทศให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้
บทวิเคราะห์/แนวความคิด/ข้อเสนอ
1.  ส่งเสริมการอ่านออกเขียนได้  หมายถึง  การดำเนินการส่งเสริมให้ผู้ไม่รู้หนังสือหรืออ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ให้ได้เรียนรู้จากหลักสูตรและสื่อที่เหมาะสมกับสภาพของแต่ละกลุ่ม  ให้สามารถอ่านออกเขียนได้ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้ของมนุษย์  ทั้งนี้รวมถึงการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประชากรวัยแรงงานให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต  เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอาชีพและทักษะชีวิตต่อไป
2.  ใส่ใจทักษะชีวิต  หมายถึง  การส่งเสริม  พัฒนาทักษะการประกอบอาชีพให้ประชากรวัยแรงงานสามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ประสบผลสำเร็จ  มีผลผลิตเป็นที่น่าพอใจและเป็นไปตามความต้องการของบริบทสังคม  รวมถึงการพัฒนาทักษะการดำรงชีวิตที่จำเป็น  เช่น  การทำบัญชีครัวเรือน  การจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์  การพัฒนาธุรกิจขนาดย่อม ฯ
3.  เน้นเศรษฐกิจพอเพียง  หมายถึง  การส่งเสริมให้ประชากรน้อมนำหลักปรัชญาของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต  เพื่อให้ประชากรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีความสุขอย่างแท้จริง  เพราะแม้ว่าคนจะร่ำรวยเพียงใดก็ตามถ้าไม่รู้จักความพอเพียงแล้วก็จะหาความสุขให้กับชีวิตไม่ได้
4.  ร้อยเรียงหัวใจสมานฉันท์  หมายถึง  การส่งเสริมความสามัคคีในหมู่ประชากรวัยแรงงานโดยเฉพาะวัยรุ่นและเยาวชนที่นับวันจะมีการใช้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น  เพื่อให้เกิดความปรองดองสามัคคีกัน  อยู่ด้วยกันในสังคมด้วยหัวใจสมานฉันท์  รวมถึงการรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงในเด็กและสตรี  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคมอย่างแท้จริง 
ผลที่คาดว่าจะได้รับ  ประชากรสามารถดำรงชีพได้อย่างมีความสุขทั้งทางด้านร่างกาย  จิตใจ  และสังคมมีความสงบสุข
ตัวชี้วัดความสำเร็จ
1.  ร้อยละของประชากรวัยแรงงานที่อ่านออกเขียนได้เพิ่มขึ้นและได้รับการพัฒนาจบระดับการศึกษาที่สูงขึ้น
2.  ร้อยละของประชากรที่ได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพและทักษะชีวิต
3.  ร้อยละของประชากรที่ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
4.  ความถี่ในการใช้ความรุนแรง  ความขัดแย้ง  และการทะเลาะวิวาทลดลง
ลงชื่อ..................................
                     (นายชยานนต์  มนตรี)
            ผู้เสนอแนวคิด
                     วันที่  15  เดือนธันวาคม  พ.ศ.  2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น